ควรเลือกสบู่อย่างไรให้เหมาะกับผิวของเรา?
ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์สบู่มีมากมายหลายชนิด และมีรูปแบบการใช้งานจำเพาะเจาะจงลงไปในบางส่วนของผิวกาย ซึ่งมักมีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันออกไป เราลองมาสำรวจดูจากคำถาม 3-4 ข้อดังต่อไปนี้ เผื่อจะเป็นแนวทางในการเลือกซื้อสบู่ได้เหมาะสมกับสภาพผิวของเราต่อไป
“สบู่ที่มีระดับพีเอช สูงจะเป็นอันตรายหรือไม่” คงต้องทราบก่อนว่าค่าพีเอช (pH) เป็นหน่วยวัดค่าความเป็นกรดด่าง มีช่วงตั้งแต่ 0-14 ถ้าความเป็นกรดสูงมาก ค่าพีเอชจะเท่ากับศูนย์ ส่วนค่าความเป็นด่างจะมีตัวเลขสูงขึ้น ระดับพีเอชของผิวคนเรานั้นมีปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับปัญหาผิวหนัง ค่าพีเอช ผิวหนังคนเราค่อนข้างเป็นกรดอยู่ ระหว่าง 4.5-5.5 อย่างไรก็ตาม อาจมีความเปลี่ยนแปลงในระดับพีเอช เมื่อมีการติดเชื้อ สบู่ที่ผลิตจำหน่ายโดยทั่วไปค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 9-11 จะเพิ่มระดับพีเอชที่ผิวหนังอาจเป็นอันตรายได้หากสูงมากเกินไป
“สบู่ชนิดหนึ่งต่างกับชนิดอื่นอย่างไร” ไม่ว่าจะมีสบู่มากมายหลายยี่ห้อเต็มท้องตลาด แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกยี่ห้อมีวัตถุประสงค์หลักในการทำความสะอาดผิวให้ปลอดจากเชื้อโรค ส่วนประกอบหลักคล้ายกันคือมีไขมันและสารพื้นฐานที่นำไปดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมาย เพียงแต่ว่าบางยี่ห้อเติมสารให้ความชุ่มชื้นสำหรับผิวแห้ง บางยี่ห้อก็เพิ่มกลิ่นหรือสารอื่น
“แล้วเราจะเลือกสบู่ให้เหมาะกับผิวได้อย่างไร” สำหรับคนผิวแห้งจะไม่ค่อยมีน้ำมันตามธรรมชาติออกมาตามผิวหนัง ควรเลือกสบู่ที่มีไขมันสูง หรือเป็นครีม สำหรับสบู่ธรรมชาติที่มีส่วนผสมของ ว่านหางจระเข้ อะโวคาโด หรือน้ำมันจากพืช ก็จัดว่าเป็นสบู่ที่ดีที่สุดสำหรับ คนผิวแห้งเช่นกัน ในขณะที่คนผิวมัน ควรเลือกใช้สบู่ต้านเชื้อโรค หรือที่มี ส่วนผสมของลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ และไทม์
“สบู่ยาจะดีกับผิวมั้ย” บางคนอาจสงสัยว่าแล้วสบู่ยาล่ะ เรื่องของ สบู่ยานั้นต้องเข้าใจว่ามันออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันและรักษา การติดเชื้อของผิวหนัง สบู่เหล่านี้จึงมีส่วนประกอบของสารหรือตัวยาระงับเชื้อ จะได้ทำความสะอาด ป้องกัน การติดเชื้อและระงับกลิ่นตัวได้ด้วย สบู่ยาจะมีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ หรือกรดซาลิไซลิค โดยทั่วไปแล้วจะแนะนำให้ใช้เพื่อระงับการติดเชื้อรา นอกจากนี้ ยังมีสบู่ที่ผสมวิตามินอี น้ำมันฮะโฮบะ ก็จะเป็นประโยชน์กับคนที่เป็นโรคผิวหนังแห้งชนิดต่างๆ เช่น โรคผิวหนังเอคซีมา โรคเรื้อนกวาง เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก เนเวอร์เอจ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น